มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยมีนโยบายว่า “มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาในท้องถิ่น” ซึ่งในปัจจุบันได้มีการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน มีหลักสูตรที่มีความหลากหลายของสาขาวิชา ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเกษตรศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ มีบุคลากรและนักศึกษามีผลงานทางวิชาการที่มีความหลากหลายและมีการบูรณาการระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังให้บริการวิชาการกับหน่วยงานภายนอกทั้งในภาคเกษตร โรงเรียน และชุมชน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่รายล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่า ทำให้สามารถใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในการเรียนการสอนการวิจัย และการบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาท้องถิ่น ขณะเดียวกันนโยบายของการพัฒนาประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยใช้หลักการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนตามนโยบายเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ (Creative Innovation and Technology for Sustainable Development Goals : SDGs)
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ให้ทันความก้าวหน้าทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเกิดการบูรณาการงานข้ามศาสตร์อย่างหลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนาผลงานทางวิชาการให้เกิดความทันสมัยและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จึงขอจัดโครงการการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ในหัวข้อ "การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน" (Research and Innovation Development to Drive Thailand’s Sustainable Economy) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ด้านการวิจัยจากนักวิจัยอาวุโสสู่นักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นใหม่ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางด้านประโยชน์เชิงวิชาการ เชิงสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการกระตุ้นให้นักวิจัยได้ตระหนักและมีการปรับตัวเพื่อรองรับการวิจัยที่ต้องการความถูกต้องและแม่นยำสูงจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิจัยในยุคปัจจุบัน รวมถึงเกิดการพัฒนาและสร้างเครือข่ายการวิจัย ความร่วมมือทางวิชาการให้เข้มแข็งระหว่างนักวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ